มนุษย์ผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะคนเอเชียอย่างเรา ที่ให้ความสำคัญกับสายน้ำเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิต ประเทศไทยมีแม่น้ำเจ้าพระยา อินเดียมีแม่น้ำคงคา ส่วนเมืองเล็กๆ ในแคว้นราชสถาน อย่าง “พุชการ์ (Pushkar)” พวกเค้าไม่มีแม่น้ำ แต่มีทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงเมือง ว่ากันว่านี่คือทะเลสาบเทพเจ้า ไปรู้จักเมืองพุชการ์และทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์นี้กันครับ

“พุชการ์ (Pushkar)” เป็นเมืองเล็กๆ เมืองนึงอยู่ในจังหวัดอัจเมอร์ (Ajmer) ในแคว้นราชสถาน ภูมิประเทศของ Pushkar มีลักษณะเด่น คือเป็นทะเลสาบที่ล้อมรอบด้วยภูเขา ซึ่งเป็นเสน่ห์นึงที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเที่ยว Pushkar

แต่แม่เหล็กที่ดึงดูดผู้คนให้หลั่งใหลมายังเมืองนี้ ไม่ได้มีแค่วิวเมือง แต่เป็นทะเลสาบ Pushkar ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ที่ว่ากันว่าทะเลสาบแห่งนี้เป็นทะเลสาบเทพเจ้า ทำให้เหล่าผู้แสวงบุญเดินทางมาเพื่อทำพิธีชำระบาปและอธิษฐานขอความสิริมงคลให้แก่ชีวิต

มีตำนานหลายตำนานที่กล่าวกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของทะเลสาบ Pushkar อาทิ

  • บ้างก็ว่าเป็นทะเลสาบที่พระพรหมทิ้งดอกบัวลงมายังพื้นโลก และได้เกิดเป็นทะเลสาบแห่งนี้รองรับดอกบัวศักดิ์สิทธิ์นั้นไว้
  • บ้างก็ว่าเกิดจากที่พระศิวะทรงโศกเศร้าที่เสียพระมเหสีองค์แรก น้ำพระเนตรจึงหลั่งรินไปทั่ว เกิดแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้น 2 แห่ง หนึ่งในนั้นคือทะเลสาบ Pushkar นี่เอง
  • และอื่นๆ อีกหลายตำนาน

เป็นผลให้มีวัดฮินดูมากมายกว่า 500 วัดกระจายอยู่รอบทะเลสาบ รวมถึงทำให้เกิด “วัดพระพรหม (วัดเทพเจ้าผู้สร้าง)” แห่งเดียวในอินเดียขึ้นที่เมืองนี้ (บ้างก็บอกว่าเป็นแห่งเดียวในโลก ไม่รู้จริงไหม 55555) ความเก่าแก่ของวัดพระพรหมนี้เค้าว่ายาวนานถึง 2,000 ปีเลยเชียวนะ!!! เฮ้ย จริงดิ!!

ถ้า Jaipur คือความวิจิตรพร่างพราว Pushkar คือดินแดนแห่งความศรัทธาแห่ง Rajastan ไม่ต้องไปถึงแม่น้ำคงคา แค่มาเยือน Pushkar เราก็สัมผัสได้ว่าคนอินเดียผูกพันและบูชาสายน้ำมากแค่ไหน

ติดตามอ่านเรื่องราวของเมืองน่าเที่ยวอื่นๆ ในแคว้น ราชสถาน (Rajastan) ได้ตามนี้ครับ

คำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยว

เพื่อความสงบสุขในการเที่ยวทะเลสาบ Pushkar เราขออนุญาตถอดคำแนะนำของลุง Tarachan คนขับรถของเราในทริปนี้ ดังนี้ (ขอขึ้น Quote ให้เลย)

ถ้าไปถึงทะเลสาบ แล้วมีคนยื่นดอกไม้ให้ ให้รีบรับแล้วลงไปทำพิธีสักการะทะเลสาบ ถ้าเค้าเรียกค่าทำพิธี จ่ายแค่ 100-200 รูปี ก็พอ ไม่อย่างนั้นอาจจะเสียเงินหลายร้อยไปจนถึงพันรูปีเลยก็ได้

ฟังตอนแรกแอบงงว่าอะไรหว่า!? แต่พอเดินเข้าไปถึงทะเลสาบจะหยิบกล้องขึ้นถ่าย ก็ได้ยินเสียงร้องห้ามขึ้นว่า “คุณยังถ่ายภาพทะเลสาบไม่ได้ จนกว่าจะทำพิธีสักการะทะเลสาบเรียบร้อยแล้ว!!”

หันตามเสียงไปก็เจอคุณพี่อินเดีย (หน้าโจร) ยืนยิ้มทำหน้าจริงจัง ทำท่ายื่นดอกไม้ให้ ตอนนั้นเรารู้ละว่านี่เป็นวิธีหาเงินแน่นอน!!! ขณะกำลังจะปฏิเสธ ก็นึกถึงคำแนะนำของลุง Tarachan เราเลยเปลี่ยนใจ รับดอกไม้แล้วลงไปทำพิธีสักการะทะเลสาบ

ซึ่งก็จะมีผู้ชายแสดงตัวว่าเป็นนักบวช มาเป็นผู้ทำพิธี โดยให้เราท่องคำสวดตามเค้าเป็นภาษาฮินดี เพื่อสักการะแม่น้ำ ขณะพิธีกำลังจะจบ เค้าก็บอกให้เราถวายเงินเพื่อบริจาคให้ทะเลสาบ ยิ่งบริจาคเยอะ ยิ่งได้เยอะ สัก 100-200 USD!!! (ราวๆ 3,300 – 6,500 บาท) WTF!!!!

แต่ลุง Tarachan เตือนเราแล้ว เราก็ปฏิเสธเสียงแข็งเลย ว่ามีแค่ 100-200 รูปี 55555 แหม… ต่อราคากันกระชากอารมณ์มาก นักบวชดังกล่าวก็โน้มน้าวไป เราก็ใจแข็งไม่ให้เพิ่มแล้ว สุดท้ายก็ตามนั้น

เมื่อบริจาคเงินแล้ว เค้าก็จะเอาสายสิญจน์สีเหลืองน้ำตาล มาผูกข้อมือเราและยัยหมวย เป็นอันว่าจากนี้ไปเราจะเดินไปตรงไหนรอบทะเลสาบก็ได้ จะไม่มีใครมากวนใจเราอีกแล้ว เพราะเราชำระเงิน เอ๊ย!! สักการะทะเลสาบ Pushkar เป็นที่เรียบร้อยแล้วจ้า!!!

หากจะลงไปชมพิธีชำระบาปที่ริมทะเลสาบ เราแนะนำให้เดินไปลงที่ท่าน้ำฝั่งวัดฮินดูในตลาด เพราะจะเป็นโซนที่มีคนนิยมลงไปบูชาทะเลสาบเยอะที่สุด ให้บอกคนขับรถพาไปส่งเราใกล้ตลาด แล้วเดินทะลุตลาดเข้าไปยังท่าน้ำ

ที่บริเวณนั้นคุณจะพบกับวิถีชีวิตจริงของผู้คนชาว Pushkar ที่ผูกพันกับทะเลสาบแห่งนี้มาชั่วชีวิต เป็นประสบการณ์พิเศษที่เราอาจไม่สามารถนำภาพมาถ่ายทอดได้ แต่อยากให้คุณได้ลองไปสัมผัสด้วยตัวเองครับ

บรรยากาศในตลาด Pushkar

ติดตามอ่านเรื่องราวของเมืองน่าเที่ยวอื่นๆ ในแคว้น ราชสถาน (Rajastan) ได้ตามนี้ครับ

เทศกาลอูฐ Pushkar Camel Fair

อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ทำให้ชื่อเสียงของเมือง Pushkar เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยว ก็คือ เทศกาลอูฐ หรือ Pushkar Camel Fair ที่พัฒนามาจากเทศกาลซื้อขายสัตว์ใช้แรงงาน อาทิ วัว, ม้า และอูฐ นานวันเข้าผู้คนก็แห่กันมาเที่ยวอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเทศกาลหลักของเมือง จัดขึ้นช่วงปลายเดือนตุลาคม – ต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

ซึ่งจริงๆ แล้วตลาดซื้อขายอูฐจะเริ่มก่อนงานเทศกาล 1 สัปดาห์ ดังนั้นช่วงเทศกาลอูฐ จึงจะเป็นลักษณะงานออกร้าน การประกวดอูฐ ดูไปจะคล้ายๆ งานวัดบ้านเรานั่นล่ะครับ เพียงแต่มีอูฐเป็นตัวชูโรง

น่าเสียดายที่เราไปถึงเมือง Pushkar หลังงานผ่านไปแล้ว 2 วัน เลยพลาดโอกาสเก็บภาพมาให้ชมครับ โอกาสหน้าจะไปเก็บภาพมาฝากกันนะ สัญญาๆๆ