อิหร่าน (Iran)… ในห้วงความทรงจำของเพื่อนๆ เป็นแบบไหนครับ สำหรับผมประเทศนี้ปรากฏเข้ามาในห้วงความทรงจำของผมตั้งแต่สมัยยังเด็ก เรื่องราวที่ได้ยินไม่ได้โสภานัก เพราะเป็นข่าวการสู้รบกันของ 2 ประเทศ คือ อิรักและอิหร่าน ที่อยู่แถวๆ ตะวันออกกลาง
ตอนนั้นผมเองก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร รบกันทำไม ใครผิดใครถูก เวลาดูข่าว TV ทีไร ก็เห็นว่า 2 ประเทศนี้รบกันประจำ ตั้งแต่ปี 1980 (ตอนนั้นผม 2 ขวบ) รบกันยาวจนถึงปี 1988 แล้วอยู่ดีๆ ก็หยุดยิงกันซะอย่างนั้น!?
หลังจากนั้นผมก็ได้ข่าวเกี่ยวกับอิหร่านบ้างประปราย จนมาเริ่มสนใจอิหร่านจริงๆ ผ่านการดูหนัง ผมเริ่มศึกษาอารยธรรมเปอร์เซียบ้างด้วยความสนใจ เริ่มรู้ว่าในอีดตอายธรรมเปอร์เซียเคยรุ่งเรืองยิ่งใหญ่มากเพียงใด ก่อนจะล่มสลายไปในเวลาต่อมา…
ตลอดมา ผมแทบไม่มีโอกาสได้คิดเรื่องการไปเยือนประเทศนี้เลย เนื่องจากข่าวคราวของอิหร่านนั้นมักถูกประโคมไปในทางลบ
อิหร่าน เป็นประเทศมุสลิมที่เคร่งครัด
อิหร่าน เป็นประเทศที่ประชาคมโลกหันหลังให้
อิหร่าน ต่อต้านประชาธิปไตย
อิหร่าน ป่าเถื่อน
อิหร่าน ไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยว
อิหร่าน ไม่ปลอดภัย
อิหร่าน บลา บลา บลา…
ข่าวลือทางลบมากมายที่ได้ยินจากรอบข้างทำให้ผมจำต้องหันหลังให้อิหร่านโดยจำใจ จนกระทั่ง… ได้เห็นโฆษณาทางทีวีตัวนี้
“เฮ้ย!!! นี่คนเค้าก็ไปเที่ยวกันแล้วนี่หว่า” ผมคิดในใจ ถ้าประเทศนี้ไม่โอเค สายการบินเค้าจะเปิดเส้นทางไปทำไม!? ผมเริ่มหาข้อมูลอิหร่านมากขึ้น ดูคลิป Youtube เพิ่มเติม จนได้ดูคลิป “Don’t go to Iran” ตอนนั้นผมแน่ใจแล้วล่ะว่า “หนีงานไปเที่ยวต้องไปอิหร่าน”
จากบรรทัดนี้ไป มาร่วมเดินทางไปค้นพบตัวตนของอิหร่าน กับเราสองคนนะครับ
อิหร่าน เริ่มต้นที่นี่ “เตหะราน” (Tehran)
กรุงเตหะรานเป็นเมืองหลวงของประเทศอิหร่าน เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแถบตะวันออกกลาง มีประชากรประมาณ 14 ล้านคน นอกจากเป็นเมืองหลวงแล้วที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ น้ำมัน การผลิตรถยนต์ ฯลฯ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการบินพาณิชย์ในภูมิภาคตะวันออกกลางอีกด้วยครับ
ชื่อเตหะราน แปลว่า “หุบเขาแห่งความสุข” ในภาษาเปอร์เซีย เมืองหลวงแห่งนี้โอบล้อมด้วยขุนเขา มีสภาพอากาศที่แตกต่างมากในช่วงกลางวันและกลางคืน ในแต่ละฤดูก็มีสภาพแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ เราอาจเจอกับอากาศร้อนถึง 43 องศา ในฤดูร้อน และเจอกับอากาศหนาวเกือบ 0 องศาในฤดูหนาว
ดังนั้นฤดูที่เหมาะกับการท่องเที่ยวอิหร่านที่เหมาะกับคนไทยจะเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วง (ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) และฤดูใบไม้ผลิ (ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม) เพราะอากาศกำลังเย็นสบาย ไม่หนาวมาก ไม่ร้อนมากครับ ส่วนช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงฤดูหนาว มีหิมะตกนะครับ
การเดินทางมาเตหะราน
จากประเทศไทย ณ ขณะนี้มีสายการบิน บินตรงมายังกรุงเตหะรานแล้วครับ ทั้งสายการบิน Thai Air Asia X และสายการบินประจำชาติอย่างการบินไทย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7.20 ชั่วโมง เราก็จะบินตรงมาลงที่สนามบิน Tehran Imam Khomeini International Airport หรือ IKIA ซึ่งเวลาท้องถิ่นของอิหร่านจะช้ากว่าประเทศไทยอยู่ 3 ชั่วโมงครึ่งนะครับ
ปัจจุบันนี้คนไทยจะเดินทางมายังอิหร่าน จำเป็นต้องขอวีซ่านะครับ ซึ่งการขอวีซ่าสามารถทำได้ 2 แบบ คือ การขอวีซ่าผ่านสถานทูตที่ประเทศไทย และการขอวีซ่า On Arrival ครับ (ติดตามอ่านรายละเอียดการขอวีซ่า On Arrival ได้ที่นี่)
ก่อนลงจากเครื่อง เรามารู้ธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศมุสลิมกันสักนิดนะครับ
- ผู้หญิงที่อยู่ในอิหร่านทุกคนจะต้องสวมผ้าคลุมผม ผู้หญิงต้องคลุมผมให้เรียบร้อยตั้งแต่อยู่บนเครื่องบินนะครับ
- ผู้หญิงจะต้องใส่เสื้อผ้ามิดชิด ควรมีเสื้อคลุมที่สามารถคลุมตั้งแต่คอลงมาถึงหัวเข่า
- ทั้งผู้ชายและผู้หญิงไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่เปิดเผยเนื้อหนัง อาทิ เสื้อสายเดี่ยว เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น
- คงไม่ต้องถามนะว่าเกาะอกกับชุดว่ายน้ำใส่ได้ไหม ใส่ได้สิ แต่ต้องคลุมให้มิด ห้ามใครเห็น
- ไม่ควรเดินจับมือถือแขนกัน โอบกอด จูบ ในที่สาธารณะ
- ควรระวังที่จะไม่ถ่ายภาพกับเพศตรงข้าม แม้เค้าจะเป็นฝ่ายขอเข้ามาถ่ายรูปเราเองก็เถอะ
- ไม่ควรจับมือกับเพศตรงข้าม โดยเฉพาะกับคนอิหร่านทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ตอนนี้เอาไป 7 ข้อก่อนนะ อย่างนี้ไม่ยากหรอก ไม่คิดว่ามันจะหนักหนาาาา… (ร้องเพลงไปด้วย)
แล้วจะเล่นเน็ตได้ป่าว!?
สำหรับสายโซเชี่ยล คุณสามารถซื้อ Sim Card ที่สนามบินได้เลย แนะนำของ Irancell ครับ คนอิหร่านที่เจอบนเครื่องบินแนะนำมาว่าสัญญาณดีสุดแล้ว สำหรับ Package นั้นก็มีให้เลือกแบบทั้งเน็ตมั้งโทร 5GB = 460,000 เรียว, 3GB = 310,000 เรียล, 1.5GB = 160,000 เรียล
แต่ว่า… รัฐบาลอิหร่านสั่งบล็อคการเล่น Social Media ทั้งหมด อาทิ Facebook, Instagram และ Youtube เป็นต้น ส่วนแอพฯ ที่เล่นได้ไม่โดนบล็อคคือ LINE, What’s app, Telegram หากใครจะมาเที่ยวผมแนะนำให้โหลดแอพฯ VPN มาจากประเทศไทยเลยนะ ตัวที่ผมใช้แล้วเวิร์คคือ Open Door (สำหรับ iPhone) และ Secure VPN นอกจากตัวนี้แล้วจะโหลดตัวอื่นมาอีกก็ได้นะ เพราะไปโหลดในอิหร่านอาจจะไม่รอด
เคาน์เตอร์ของ Irancell จะอยู่ตรง Hall B ของส่วนผู้โดยสารขาเข้า เอกสารที่ต้องใช้คือ Passport ตัวจริง และลายนิ้วมือของเรา (เดี๋ยวเค้าจะให้ปั๊มนิ้วด้วยหมึกน้ำเงินแหล่ะ) แบบฟอร์มเป็นภาษาฟาซีล้วนๆ (ภาษาท้องถิ่นอิหร่าน) แต่พนักงานพูดภาษาอังกฤษได้แบบงูๆ ปลาๆ นะครับ
ดังนั้นต้องเน้นย้ำให้พนักงานกรอกข้อมูลภาษาฟาร์ซีให้ครบถ้วน โดยเฉพาะ ชื่อพ่อ ที่พักคืนแรกในอิหร่าน รวมถึงต้องปั๊มลายนิ้วมือนิ้วชี้ให้ชัดเจนด้วยนะครับ ไม่งั้นต้องเสียเวลาไปแก้ปัญหาทีหลัง จะเสียเวลาเปล่าๆ นะ
เราสองคนเจอปัญหามาแล้ว ต้องเสียเวลาไปหลายชั่วโมงเลย เราโชคดีที่เจอคนอิหร่านใจดีพาเราไปจัดการกรอกข้อมูลใหม่ แต่คุณอาจไม่โชคดีเหมือนเรานะ
การเดินทางจากสนามบิน IKIA เข้ากรุงเตหะราน
เพื่อความรวดเร็ว แนะนำให้ใช้บริการรถ Taxi เลยครับ สังเกตสัญลักษณ์ TAXI บริเวณประตูที่ออกจากตัวอาคารสนามบิน หรือสอบถามคนแถวนั้นก็ได้ครับ ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. เดินทางจาก IKIA เข้าเตหะราน ค่าโดยสารนั้นจะมีอัตราคงที่กำหนดไว้แล้ว ชอบแบบไหนเลือกได้เลย
- รถยี่ห้อ SAMAND ค่าโดยสาร 700,000 เรียล
- รถยี่ห้อ TOYOTA ค่าโดยสาร 750,000 เรียล
- รถยี่ห้อ Volks แบบ Wagon ค่าโดยสาร 750,000 เรียล
- รถแวน ค่าโดยสาร 800,000 เรียล
ระบบคมนาคมในเตหะราน
ความที่เป็นเมืองหลวง ทำให้การเดินทางในเตหะรานนั้นแสนสะดวกสบายครับ ทั้งนถไฟใต้ดิน รถเมล์ และรถแท๊กซี่ มีรายละเอียดตามนี้ครับ
1. Metro (รถไฟใต้ดิน)
คุ้มสุด เร็วสุด และถูกมากๆ ด้วยเครือข่ายการเดินทางที่ครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ในเตหะราน ในราคาเพียง 7,500 เรียว / เที่ยว เราสามารถใช้รถไฟใต้ดินเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในเตหะรานได้เกือบหมดเลยครับ (บางแห่งอาจต้องเดินอีกนิดนึง แต่ไม่ไกล)
เปิดให้บริการ : 06:00-24:00 น.
ข้อควรรู้ :
- บนรถไฟไม่มีเสียงประกาศภาษาอังกฤษนะครับ มีแต่ภาษาฟาซี แนะนำให้ดูชื่อสถานีขณะที่รถจอดเทียบชานชาลา หรือไม่ก็นับสถานีเอาครับ หากกังวลจริงๆ หันไปถามคนอิหร่านเลย ยื่นป้ายชื่อสถานีให้เค้าดู
- รถไฟใต้ดินจะมีการแบ่งตู้โดยสารสำหรับสตรีโดยเฉพาะ ตั้งแต่ตู้ที่ 1-5 ใครไม่อยากไปเบียดกับหนุ่มๆ เชิญได้ที่ตู้สตรีสิคะ
- ช่วงเวลาเร่งด่วน รถไฟจะแน่นสุดๆๆๆๆๆๆ แน่นจนปลากระป๋องยังร้องไห้เลยล่ะ
- สีสันที่น่าสนใจของรถไฟใต้ดินในเตหะราน คือ จะมีการตะโกนขายสินค้าต่างๆ กันบนรถเลยล่ะ มีของจิปาถะ กระเป๋า ถุงเท้า เข็มขัด สมุดระบายสี ฯลฯ ดูแล้วสนุกมาก
2. รถ Taxi
ยานพาหนะที่สะดวก รวดเร็ว และแพงที่สุดในระบบขนส่งมวลชน ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 100,000 เรียล (ไม่มีมิเตอร์นะ) ก่อนจะขึ้นรถควรต่อรองราคาให้เรียบร้อยก่อน และควรย้ำให้ชัดเจนว่าจำนวนเงินที่เค้าพูดถึงเป็นสกุลอะไร (สกุลเงินเรียล หรือสกุลเงินโตมัน 1,000 เรียล = 100 โตมัน) ค่ารถ Taxi ในเตหะรานโหดพอควรเลยล่ะ นิสัย Taxi ไม่ว่าที่ไหนก็เหมือนกันทั้งโลก ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปขึ้นเลย
3. รถเมล์ประจำทาง
เท่าที่ทราบจากคนท้องถิ่นคือ ราคาถูกมาก ราคาคงที่ตลอดสาย แต่ไม่มีภาษาอังกฤษบอกทั้งชื่อป้ายรถเมล์ คนขับก็พูดภาษาอังกฤษได้น้อยมาก หากไม่ชำนาญจริงๆ ไม่แนะนำครับ และเนื่องจากในทริปนี้เราไม่ได้ใช้บริการรถเมล์เลย จึงขออนุญาตไม่ลงรายละเอียด ณ ขณะนี้ครับ
เที่ยวเตหะราน เที่ยวไหนดี?
รู้ข้อมูลการเดินทางในเตหะรานเรียบร้อยแล้ว ได้เวลาเที่ยวกันแล้วจ้า สถานที่ท่องเที่ยวในเตหะรานมีเยอะและหลากหลายมาก ว่ากันตั้งแต่ เดินชอปปิ้งในตลาด ชอปปิ้งในห้างฯ ตระเวนกินของอร่อย เที่ยวมัสยิดโบราณ เที่ยวพระราชวังโบราณ คฤหาสน์ ปีนเขา เที่ยวลานสกี ฯลฯ แต่สถานที่ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง มีดังนี้ครับผม
พระราชวังกุหลาบ Golestan Palace (พระราชวังโกเลสตาน)
มาเที่ยวเตหะราน ไม่ควรพลาดพระราชวังนี้ด้วยประการทั้งปวง พระราชวังแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งสถานที่ประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองเตหะราน สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยคริสต์วรรษที่ 16 ในราชวงศ์ Safavid สิ่งที่เหลืออยู่จากสมัยนั้น คือ ป้อมสูง (Citadel) สำหรับส่องดูข้าศึกและสถานอาบน้ำแบบเติร์ก
ต่อมาศตวรรษที่ 19 ในยุคสมัยของกษัตริย์คาจาร์ (Qajar Dynasty, 1779-1921) ถือเป็นยุคที่เปอร์เซียมีความรุ่งเรืองทางด้านการค้า การต่างประเทศและศิลปะ กษัตริย์ NasserAl-Din Shah กษัตริย์รองสุดท้ายของราชวงศ์ Qajar (1848-1896) โปรดให้สร้างและตกแต่งขึ้นตามสไตล์ยุโรปที่พระองค์ทรงโปรดจากที่เคยเสด็จประพาส จึงมีการสร้างพระตำหนักแบบนีโอคลาสสิคของยุโรป และได้นำความเจริญของยุโรปเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชิวิตของชาวอิหร่าน
ความโดดเด่นของพระราชวังแห่งนี้คือ ความงดงามในการตกแต่งภายในด้วยกระจกเงาตัดเหลี่ยมแบบเพชรที่สุดอลังการ และการตกแต่งภายนอกด้วยกระเบื้องเคลือบที่มีสีสันและลวดลายโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปะยุค Qajar
ช่วงเวลาหนึ่งหลังการปฏิวัติโดยอิหม่ามโคมัยนี พระราชวังแห่งนี้ก็ตกอยู่ในสภาพทรุดโทรม ถูกปล่อยทิ้งร้างเช่นเดียวกับวังอื่นๆ ต่อมาได้มีการเริ่มบูรณะพระราชวังหลายแห่งใหม่ทั้งหมดเมื่ออิหร่านเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง
องค์การยูเนสโก้ได้ประกาศให้ Golestan Palace เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 2007 ความสวยงามของสถานที่นี้จนมีผู้ยกย่องว่า “A masterpiece of the Qajar era” ปัจจุบันพระราชวังโกเลสตานยังคงใช้เป็นที่รับรองบุคคลสำคัญ แขกบ้านแขกเมืองมาจากต่างประเทศอย่างเป็นทางการ
การเข้าชมพระราชวัง Golestan นั้น ถ้าจะเที่ยวให้ทั่วต้องซื้อบัตรเข้าชมแบบ All Area ซึ่งราคาแพงมาก 940,000 เรียล (ประมาณ 940 บาท) ซึ่งต้องบอกกันตรงๆ ว่า ยังมีหลายส่วนที่มีการซ่อมบำรุงอยู่ รวมถึงมีหลายๆ ส่วนที่ถ่ายภาพไม่ได้ (เข้าไปแล้วไม่ได้ถ่าย อาจเสียดายตังค์)
ผมแนะนำให้สอบถามเจ้าหน้าที่ห้องขายบัตรเข้าชมเลยครับ ว่าโซนไหนซ่อมบำรุงอยู่ โซนไหนถ่ายภาพได้หรือไม่ได้ ซึ่งผมเองก็สอบถามมา และได้คำแนะนำตามภาพด้านล่างนี้ครับ ส่วนที่ติ๊กเครื่องหมายถูก คือส่วนที่แนะนำให้เข้าชมและสามารถถ่ายภาพได้ (ยกเว้น Main Hall)
The Marble Throne (Takht e Marmar)
“บัลลังก์หินอ่อน” บัลลังค์ขนาดใหญ่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อบ่งบอกความมั่งคั่งได้เป็นอย่างดี โดยนำหินอ่อนที่มีชื่อเสียงและล้ำค่าสีเหลืองนวลมาจากเมือง “Yazd”มาแกะสลัก ระบายสี ตกแต่งด้วยการกระจก ตามความประสงค์ของ “Fath Ali Shah” แห่งราชวงศ์ “Qajar” ในปี ค.ศ.180
บัลลังค์หินอ่อนนี้ถือว่าเป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดของพระราชวังวางบนระเบียงขนาดใหญ่ ในอดีตสถานที่นี่ใช้เป็นที่แต่งตั้งกษัตริย์ในราชวงศ์ Qajar และในราชพิธีที่สำคัญๆ
Karim Khani Nook (Khalvat e Karim Khani)
ผลงานของจิตรกรยุโรปเสนอในราชวงศ์ Qajar จะตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านบ่อน้ำ ที่นี่จะถูกใช้ เป็นห้องในช่วงฤดูร้อน โดยระบบทำความเย็นพิเศษจะสูบน้ำจากระบบ ใต้ดินลำธารลงไปในบ่อขนาดเล็กภายในห้อง อีกทั้งระบบนี้ยังใช้ในอีกหลายห้อง ในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากผลกระทบของความชื้น ระบบนี้ไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว
ย้อนกลับไปที่ 1759 ลักษณะการตกแต่งภายใน จะมีโครงสร้างคล้ายกับบัลลังก์หินอ่อน แต่มีขนาดเล็กกว่าและมีการประดับตกแต่งน้อยกว่า ในอาคารหลังนี้จะมีหินอ่อนที่ถูกแกะสลักเป็นรูปเหมือนจริงของกษัตริย์ NasserAl-Din Shah บริเวณนี้เคยมีบ่อน้ำพุขนาดเล็กอยู่ตรงกลางของระเบียงนี้ และมุมนี้ก็เป็นมุมโปรดของกษัตริย์องค์นี้เช่นกัน
Main Hall – Brilliant Hall (Talar e Aineh)
ภายในฮออล์จะถูกตกแต่งประดับประดาด้วยงานกระจกฝีมือที่ยอดเยี่ยมของช่างฝีมืออิหร่าน งานกระจกตัดเหลี่ยมคล้ายเพชรและโคมไฟห้อยระย้าถือว่าโดดเด่นและมีชื่อเสียงมาก ภายในจะมีสิ่งของเครื่องใช้โบราณจากนานาประเทศ เช่น ประเทศจีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น รัสเซียที่นำมามอบให้ แต่ละชิ่นสวยงามวิจิตรมาก และมีภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยยาห์ข่าน (Sani OL Molk)
มีหุ่นขี้ผึ้งจำลองของ “Shah” ที่นี่เคยใช้เป็นท้องพระโรงเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง โซนนี้ห้ามถ่ายภาพ แต่ควรเข้าชมเพราะวิจิตรสุดๆ
Talar-e-Zoroof (Porcelain Hall)
เป็นโซนต่อเนื่องจากโซน Main Hall จัดแสดงเครื่องกระเบื้องสวยๆ ที่เป็นบรรณาการมาจากกษัตริย์ประเทศต่างๆ ในยุโรปตั้งแต่ราชวงศ์ Qajar งานกระเบื้องมีความวิจิตร สวยงามมากจริงๆ ครับ มีการวาดลวดลายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มีประดับเครื่องเพชร และจิวเวอรี่จาก Queen Victoria เป็นต้น โซนนี้ห้ามถ่ายรูปเช่นกัน
Shams-OL-Emareh (Gallery of Menuscript)
อาคารหลังนี้มีความโดดเด่นมากที่สุด มีการผสมผสานของสถาปัตยกรรมเปอร์เซียและยุโรป โครงสร้างอาคารออกแบบสวยงามตั้งอยู่บนปีกตะวันออกของพระราชวัง การสร้างอาคารหลังนี้เกิดจากความคิดของ NasserAl-Din Shah ก่อนเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก และเกิดจากความชอบของอาคารยุโรป เพื่อต้องการสร้างอาคารที่สูงเพื่อสามารถชมทัศนียภาพอันงดงามของเมือง
การก่อสร้าง Shams-OL-Emareh เริ่มในปี 1865 และเสร็จสมบูรณ์อีก 2 ปีต่อมา อาคารนี้ประกอบด้วย 2 อาคารที่เหมือนกัน มุมมองด้านนอก สามารถเห็นงานกระเบื้องโค้งที่ซับซ้อนและหน้าต่างอันหรูหรา
การเดินทางมายัง Golestan Palace : นั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน (Metro) สายสีแดงมาลงที่ Panzdah Khordad หรือ Imam Khomeini ก็ได้ แล้วเดินต่ออีกนิดนึง (ถ้าลงที่ Panzdah Khordad จะใกล้ Grand Bazaar มากกว่า)
พิกัด GPS : 35.6811383,51.4175964
เวลาทำการ : ตั้งแต่ 09:00 น. – 18:00 น. (ปิดขายบัตรตอน 15:00 น.)
Webisite : http://www.golestanpalace.ir
Tehran Grand Bazaar
ที่นี่คือที่สุดของนิยามคำว่าตลาด สีสันของการจับจ่าย อาหาร แฟชั่น เครื่องประดับ พรม ขนม ของฝาก ฯลฯ กับพื้นที่กว่า 10 กิโลเมตร!!! ครับ พิมพ์ไม่ผิด 10 กิโลเมตร ตลาดนี้ตั้งอยู่ที่จตุรัส ARG หรืออยู่ตรงข้ามกับประตูทางออกของพระราชวัง Golestan เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีตรอกซอกซอยครอบคลุมไปทั่วบริเวณ
บรรยกาศการขายของที่นี่ครึกครื้นมาก จะมีการแบ่งโซนสินค้า ให้สินค้าเหมือนกันอยู่โซนเดียวกัน ลีลาการตะโกนเรียกลูกค้า การนำเสนอสินค้า โอ๊ว!! โดนใจสุด เดินดูไปก็ยิ้มไป
เราเพิ่งรู้ว่าคนอิหร่านนี่ชอบช้อปปิ้งมาก แถมตลอดทางที่เราเดินตลาด ก็มักจะมีผู้คนเข้ามาทักทาย ยิ้มให้ แล้วก็ขอถ่ายรูปกับเราตลอดเวลา
Azadi Tower
หนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศอิหร่าน ก็คือที่นี่ครับ Azadi Tower อนุสาวรีย์แห่งเสรีภาพ ตั้งอยู่ที่ Azadi Square สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1971 เพื่อรำลึกถึงวันครบรอบปี 2500 ของจักรวรรดิเปอร์เซีย ความโดดเด่นของอนุสาวรีย์นี้ คือการออกแบบอนุสาวรีย์เป็นรูปตัว Y คว่ำ ซึ่งมีการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบเปอร์เซียหลายๆ ยุคไว้ด้วยกัน อนุสาวรีย์นี้ออกแบบโดย Hossein Amanat สถาปนิกชื่อดังชาวอิหร่าน
บริเวณโดยรอบตกแต่งเป็นสวนสาธารณะ มีสนามหญ้า ต้นไม้ และสวนดอกไม้สวยๆ ตรงกลางจัดเป็นลานน้ำพุ หากมาในช่วงเย็นๆ ประมาณ 18:00 หรือ 19:00 น. จะมีการเปิดน้ำพุและส่องไฟสีต่างๆไปยังอนุสาวรีย์ สวยงามมากครับ
น่าเสียดายที่ตอนผมไปเที่ยวนั้น ทางรัฐบาลกำลังซ่อมบำรุงพื้นบริเวณใต้อนุสาวรีย์อยู่ เลยไม่ได้ถ่ายภาพแสงสียามค่ำมาให้ได้ดูกัน คิดว่ายังไงคราวหน้าต้องกลับไปแก้มือแน่นอน
Shah-Abdol-Azim Shrine
ผมเจอภาพมัสยิดแห่งนี้โดยบังเอิญตอนค้นหาภาพ Tehran ในเว็บอากู๋กูเกิ้ล ตอนเจอถึงกับ “ว้าว!! ในใจ” นี่มันที่ไหนหว่า พอค้นข้อมูลถึงได้รู้ว่ามัสยิดแห่งนี้เป็นมัสยิดที่เก่าแก่และสำคัญมากๆ ในกรุงเตหะราน ผมก็ไม่รอช้า… รีบวางแผนจะไปเที่ยวที่นี่ทันที อ่ะมาดูข้อมูลกันสักนิด
มัสยิด Shah-Abdol-Azim หรือ Shah-Abdol-Azim Shrine เป็นมัสยิดเก่าแก่และสำคัญมากในกรุงเตหะราน ตั้งอยู่ที่เมือง Rey ภายในเป็นสุสานของ Abdul Azim ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 5 ของ Hasan ibn Ali อดีตผู้นำทางศาสนาคนสำคัญของศาสนาอิสลาม
ที่น่าตื่นตะลึงก็คือร่างของ Abdul Azim ถูกนำมาฝังไว้ที่นี่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 นั่นแปลว่ามัสยิดแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 เลยนะครับ!!!!
พอมาเห็นด้วยตาจริงๆ พบว่ามัสยิดแห่งนี้สวยกว่าในรูปตั้งเยอะ สถาปัตยกรรมของมัสยิดนี่วิจิตรมาก เรียกว่าสวยทั้งภายในและภายนอก ตัวมัสยิดหลักจะมีโดมสีทองอยู่ตรงกลาง และมี “อิวาน” หรือซุ้มโค้งประตูหน้าที่ประดับด้วยกระจกสวยๆ งามละเอียดเลยล่ะ นอกจากนี้ถ้ามองไปอีกด้านนึงของมัสยิดจะมีหอนาฬิกาที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งก็สวยงามไม่แพ้กัน
น่าเสียดายที่ภายในมัสยิดนั้นไม่ให้ถ่ายภาพ (เข้าใจว่าเฉพาะช่วงที่มีการละหมาด) ผมได้มีโอกาสเดินเข้าไปชมมา พบว่าภายในก็ตกแต่งด้วยกระจกและโคมระย้าอย่างสวยงาม ผนังเป็นหินอ่อนที่มีการแกะสลักคำสอนทางศาสนาเอาไว้มากมาย เรียกได้ว่างานตกแต่งภายในนั้นสวยงามไม่แพ้พระราชวัง Golestan เลยทีเดียวครับ
สำหรับใครที่จะไปเยี่ยมชมควรแต่งการสุภาพ โปรดล้างมือ ล้างเท้า บ้วนปากให้สะอาดก่อนเข้าไปในมัสยิด ผู้หญิงต้องคลุมผ้า chador ตั้งแต่หัวจรดเท้าเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อสถานที่นะครับ
ใกล้ๆ กับมัสยิดจะมีตลาดขนาดใหญ่เรียกว่า Shah-Abdol-Azim Bazaar ไว้สำหรับให้ผู้คนได้มาจับจ่ายกัน หลังจากเข้าชมมัสยิดแล้วอย่าลืมแวะมาเดินเล่นในตลาดกันนะครับ อ้อ… ผมแนะนำให้เข้าไปมัสยิดก่อนแล้วค่อยออกมาชอปปิ้งนะ ไม่งั้นคุณจะชอปปิ้งเพลินจนลืมเวลา 555
การเดินทางมายัง Shah-Abdol-Azim Shrine : นั่งรถไฟใต้ดินสายสีแดงมาลงที่สถานี Shehr-e-Ray แล้วนั่ง taxi อีก 10-15 นาที ค่า Taxi ประมาณคนละ 20 บาท
พิกัด GPS : 35.5860083,51.4332595
Tohid tunnel
ถ้าจะถามว่าเตหะรานเจริญแค่ไหน ประเทศเค้าล้าหลังหรือเปล่า ผมว่าการได้มาเห็น Tohid Tunnel ด้วยตาตัวเอง จะตอบคำถามทั้งหมดนี้ได้ชัดเจนแจ่มแจ้งเลยล่ะ Tohid Tunnel คืออุโมงค์รถวิ่งที่ยาวถึง 3 กม. เป็นอุโมงค์ที่ยาวเป็นอันดับ 3 ในตะวันออกกลาง เชื่อไหม อุโมงค์นี้สร้างเสร็จในเวลาเพียง 30 เดือนเท่านั้น!! (มาดูอุโมงค์บางแห่งบ้านเราสิ สร้างมากี่ปีละ) นี่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงถึงเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมที่ก้าวหน้าของชาวอิหร่าน และช่วยยืนยันว่าอิหร่าน เป็นประเทศที่มีความเจริญไม่แพ้ใคร
หากได้มายืนที่มุมนี้ในวันฟ้าเคลียร์เราจะมองเห็น Milad Tower และภูเขา Alborz ที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะด้านหลังได้ชัดเจนเลยครับ นอกจากนี้การได้ยืนดูสภาพการจราจรบริเวณอุโมงค์นี้พักใหญ่ ผมพบว่าการจราจรที่อิหร่านนี่น่าจะสาหัสแห่งนึงของโลกเลยล่ะ
Moghadam Museum : พิพิธภัณฑ์ Moghadam คฤหาสน์ที่มีคุณค่ามากที่สุดในโลก
ยัยหมวยบอกผมว่าคฤหาสน์ Moghadam นี่เป็นคฤหาสน์ที่มีคุณค่ามากที่สุดในโลก!!! ผมก็คิดนะ มันจะเว่อร์อะไรขนาดนั้น แต่พอไปดูของจริงก็พบว่าคฤหาสน์สไตล์เปอร์เซียโบราณแห่งนี้สวยวิจิตร งานละเอียด ประณีตจริงๆ
สมกับที่ Professor Pope นักประวัติศาสตร์ด้านศิลปะชาวอเมริกัน ได้เขียนบทความชื่นชมบ้านหลังนี้ไว้ในหนังสือ Survey of Iranian Arts in Sepid-o-Siah magazine (บทความนี้เป็นบทความเกี่ยวกับบ้านที่มีงานสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์)
ในอดีตบ้านหลังนี้เคยเป็นของ Mohsen Moqadam ลูกชายคนสุดท้องของ Ehtesab-o-Al-Molk นายกเทศมนตรีในยุค Naser-aldin ของอิหร่าน Mohsen รักการวาดภาพมาตั้งแต่เด็กๆ ต่อมาเขากลายเป็นนักโบราณคดีคนแรกที่ได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในหลายสถานที่ทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งเค้ายังเป็นผู้ก่อตั้งวิทยาลัยวิจิตรศิลป์ รวมถึงสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเตหะราน
ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ Moghadam เป็นหนึ่งในบ้านสุดหรูที่เป็นตัวแทนของยุคสมัย Qajar ที่นี่เป็นที่เก็บงานศิลปะที่มีความสำคัญมากของประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัยเตหะรานเป็นผู้ดูแล เริ่มกลับมาบูรณะและเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2009
แต่น่าเสียดายอีกเช่นกันที่ตอนนี้คฤหาสน์แห่งนี้อยู่ระหว่างการบูรณะครั้งใหญ่ ทำให้ผมกับยัยหมวยอดเข้าไปดูความสวยงามภายในเลยครับ ผมมีตัวอย่างภาพด้านในมาให้ได้ชมกันที่นี่ครับ ดูภาพภายในอาคาร
การเดินทาง : นั่งรถไฟใต้ดินมาลงที่สถานี Baharentra แล้วเดินต่ออีก 10 นาที
ค่าเข้า : 100,000 เรียล จากปกติ 200,000 เรียล (เนื่องจากซ่อมบำรุงอยู่)
ที่อยู่ : Tehran Province, Tehran, امام خمینی، Iran
เวลาทำการ : 09:00 – 16:00
ที่พักและร้านอาหารแนะนำในเมืองเตหะราน
หลังจากเราพาเที่ยวไปหลายที่ในเตหะราน ไอ้ครั้นจะไม่แนะนำที่พักกับร้านอาหารให้เพื่อนๆ บ้าง ก็ดูจะใจดำไปสักหน่อยครับ เนื่องจากข้อมูลที่พักและร้านอาหารในอิหร่านส่วนใหญ่จะเป็นภาษาฟาซี รวมถึงหลายๆ เว็บไซต์ก็เข้าถึงยาก ดังนั้นเราเลยขอแนะนำที่พักและร้านอาหารที่เราไปใช้บริการมานะครับ
Persian Hostel
ค่าที่พักห้อง Private (เตียงคู่ ห้องน้ำรวม พร้อมอาหารเช้า) 45 usd ห้องแบบ Dorm เริ่มที่ 10 usd
ที่นี่เพิ่งเปิดใหม่ได้ 2 เดือน บริหารงานโดยคนรุ่นใหม่ ที่อยากทำที่พักใกล้สถานีรถไฟใต้ดิน (เดินแค่ 3 นาทีก็ถึงสถานี Shahid Mofatteh) หากเดินทางจากสนามบิน แนะนำให้เอาที่อยู่พร้อมเบอร์โทรโรงแรมให้คนขับ ให้เค้าบอกทางกันเองครับ ภาษาฟาซี ยากแท้หยั่งถึง
Persian Hostel อยู่ที่ชั้น 3 ของ Deed Gallery ถ้าคุณเดินทางมาพร้อมกระเป๋าใบใหญ่ ตอนนี้ก็ถึงชั่วโมงพละแล้วล่ะ ออกกำลังกายสักนิด ยกกระเป๋าขึ้นมาชั้น 3 แล้วจะพบ Hostel เล็กๆ ที่แบ่งโซน Dorm กับ Private เอาไว้อย่างง่ายๆ ที่นี่มีห้องน้ำรวม 2 ห้อง มีห้องครัว มีตู้เย็น ที่ล้างจาน
ชั้นล่างเป็นร้านกาแฟ + Gallery เก๋ๆ กาแฟอร่อยนะ มีสวนเล็ก พร้อมโต๊ะกาแฟให้เราออกไปนั่งรับแดดยามเช้าได้
อาหารเช้าที่โรงแรมจัดไว้ให้จะเป็นขนมปังปอนด์และขนมปังอิหร่าน (เป็นแผ่นบางๆ คล้ายกระดาษเลย) เสิร์ฟคู่ครีมชีส แยมผลไม้ แยมแครอท และชาสมุนไพรหอมๆ รสออกไปทางผลไม้นิดๆ
คะแนนรีวิวจากหนีงานไปเที่ยว
- ทำเล 4/5 ใกล้รถไฟใต้ดิน อยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวก แต่ห้องอยู่ชั้น 3 และไม่มีลิฟท์!!!
- ห้องพัก 3.5/5 ห้องสะอาด ปลั๊กไฟเยอะ มีโซฟาในห้อง แต่ไม่มีผ้าเช็ดตัว ต้องไปเสียเงินซื้อเอง
- การบริการ 3/5 ขึ้นอยู่กับว่าคุณเจอ ผจก. คนไหน แต่ส่วนใหญ่จะให้การช่วยเหลือดี
- อาหารเช้า 3.2/5 ขนมปังดี แยมอร่อย ชาดี๊ดี แต่มันไม่พออิ่มน่ะสิ!!
คะแนนรวม 3.4/5
Shiva Traditional Restaurant
ร้านนี้อยู่บนถนน Valiasr Street (خیابانولیعصر) ถนนเส้นนี้ถูกจัดอันดับให้เป็น “ถนนที่ยาวที่สุดในตะวันออกกลาง” ถนนสวย ร่มรื่น มีธารน้ำไหลและมีต้นไม้เรียงราย ถือเป็นถนนสายไฮโซสายหนึ่งของกรุงเตหะราน บนถนนเส้นนี้ยังมีศูนย์การค้าทันสมัยหลายแห่ง มีร้านค้าแบรนด์เนมหลายร้านเลยครับ
นอกจากร้านค้าแบรนด์เนมและศูนย์การค้าแล้ว ถนนสายนี้ยังมีโรงแรมและร้านอาหารดังๆ อยู่หลายร้านเช่นกัน รวมถึงร้าน Shiva Traditional Restaurant แห่งนี้ด้วย เราทั้งคู่มาเจอกับร้านนี้โดยบังเอิญครับ เนื่องจากโดน Taxi ตัวแสบพามาแล้วพยายามจะโก่งค่าโดยสาร เราเลยลงรถ (จ่ายเงินเท่าที่ควรจ่าย) แล้วก็เดินหาร้านอาหารกันเอง จนมาเจอร้านนี้
ตอนแรกเราไม่รู้ว่าร้านนี้ดัง 55555 เพราะป้ายหน้าร้านก็ไม่เด่นอะไรเลย มีแค่เด็กหนุ่มคนนึงยืนเรียกลูกค้าอยู่ด้านล่าง เราเดินผ่านโถงบันไดที่ปูด้วยพรมแดงขึ้นไปที่ชั้น 2 ก็พบกับร้านอาหารตกแต่งแบบคลาสสิค ไม่ได้ดูโดดเด่นอะไร ขณะนั้นมีลูกค้านั่งอยู่ประมาณ 2 โต๊ะ
หลังจากขอดูเมนูอาหาร (และราคา) แล้ว เราจึงสั่งอาหารมาทาน 2 เมนู คือ ข้าวหมกแพะและข้าวหมกไก่ ระหว่างที่รอทางร้านจัดสลัดผักและโยเกิร์ตลูกเกดมาให้เราทานระหว่างรอ เราพบว่าสลัดและโยเกิร์ตนั้นน่าสนใจกว่าที่คิดมาก เรื่องความสดของผักสลัดนั้นผมไม่ค่อยสงสัย เพราะผักที่นี่ราคาไม่แพง สด และอร่อยมาก ยิ่งได้น้ำสลัดสูตรของทางร้านเข้าไปยิ่งอร่อยชื่นใจ
จากนั้นสักครู่พนักงานก็นำอาหารหลักมาเสิร์ฟ แค่ได้เห็นข้าวที่หุงมากำลังสวยและกลิ่นหอมๆ ของเนื้อแพะและไก่ ผมก็น้ำลายสอเลย ต้องออกตัวก่อนนะครับว่ามื้อนี้เป็นมื้อในคืนสุดท้ายที่อิหร่าน ดังนั้นก่อนจะมาเจอร้านนี้ เราลิ้มลองอาหารพื้นเมืองเปอร์เซียมาหลายร้านแล้ว
ที่ร้าน Shiva จะต่างจากร้าน Traditional อื่นๆ ตรงที่ร้านนี้เลือกใช้วิธีการตุ๋นด้วยแรงดันสูงแทนการย่าง ซึ่งเนื้อแพะและเนื้อไก่ตุ๋นมาเปื่อยดีมากครับ แค่เอาช้อนกดลงไปเนื้อก็แยกออกมาให้ทานได้สะดวกเลย
รสชาติของเนื้อไก่นั้นมีความนวลครับ เมื่อทานกับข้าวที่ผสมกับถั่วและเนยแซฟฟรอนแล้วลงตัว หอมมากๆ ครับ สำหรับข้าวหมกแพะนั้นมีการหมักเนื้อแพะก่อนจะทำการตุ๋น ช่วยลดกลิ่นสาปแพะได้ดีครับ รสชาติเนื้อเมื่อทานกับข้าวแล้วนวลดีจังครับ
คะแนนรีวิวจากหนีงานไปเที่ยว เป็นดังนี้
- การตกแต่งร้าน 3.5/5 ตกแต่งร้านดูเชยๆ ครับ แต่ร้านสะอาดดี
- การบริการ 4/5 ผมชอบคุณลุงที่เป็นบริกรมาก ใส่ใจ ซื่อๆ น่ารักๆ
- รสชาติอาหาร 4.2/5 รสชาติอาหารร้านนี้นวลๆ แต่ไม่ได้หนักไปทางใดทางนึง
- ราคา 3.8/5 ราคาแอบแรงไปนิด แต่ก็คุ้มค่ากับคุณภาพอาหาร
คะแนนรวม 3.9/5
เตหะรานคือประตูสู่ดินแดนเปอร์เซีย อดีตอาณาจักรที่มีอารยธรรมยิ่งใหญ่แห่งตะวันออกกลาง ประเทศนี้ยังมีความน่าสนใจอีกมากมายที่เราทั้งคู่อยากจะพาคุณไปสัมผัส ติดตามการเดินทางของเราทั้งคู่ในเมืองอื่นๆ ได้เร็วๆ นี้
“เพราะการเดินทางทำให้โลกใบเดิมของเรากว้างขึ้น” ประโยคนี้ทำให้ผมและแฟนจับมือกันออกเดินทางไปเรียนรู้โลกกว้าง จนเป็นที่มาของเพจ “หนีงานไปเที่ยว” และ Blog ที่ชื่อ www.ibreak2travel.com อ่านมาถึงบรรทัดนี้เราอยากบอกว่า…
ย้อนกลับไปหลายปีก่อนตอนรู้จักกันใหม่ๆ “อีพริ้ง คือ นักท่องเที่ยวที่ต้องทำงานประจำ ส่วนยัยหมวยติ๊ดตี่ คือ คนทำงานประจำที่อยากเที่ยวบ้าง” เราต่างกันเหลือเกิน แต่เมื่อมาคบกัน 2 ความต่างก็หาจุดลงตัวจนทำให้เรามาถึงจุดที่อยากทำเพจพาเพื่อนๆ คนทำงานไปเที่ยวกับพวกเราบ้าง ถ้าเราไปได้ ใครๆ ก็ไปแบบเราได้แน่นอน
เราขอฝากร้านด้วยนะ แวะไปกด Like เพจกันหน่อย (อย่าลืมตั้งค่าเป็น See First หรือ “เห็นก่อน”) จะได้รู้ว่าพวกเรายังมีคุณๆ อยู่เสมอ