ตลอด 4 ปี ของการเป็น Travel Blogger มักมี comment ประเภทนึง ที่มักจะมาเยี่ยมเยียนเราเสมอ เวลาเราโพสต์แนะนำที่เที่ยว เช่น “เอาเงินที่ไหนมาเที่ยว, ขอเก็บเงินแป๊บ, ทำยังไงถึงจะมีเงินเที่ยว, ขอเก็บเงินก่อน, เอาไว้ค่อยไปเที่ยวนะ, ใจพร้อม กายพร้อม เงินไม่พร้อม” และอีกสารพัดเหตุผลที่แปลรวมๆ ว่า “อยากเที่ยวแต่ไม่มีตังค์ ทำไงดี”
อ่านแล้วก็เห็นใจ เพราะไม่ว่ายังไงเราก็ต้องใช้เงินเป็นเชื้อเพลิงในการดำรงชีวิต แต่ที่เราต้องอดใจ ไม่ตอบคำถามนี้ไปตรงๆ ตั้งแต่แรก ก็เพราะในวันนั้นเราก็ยังอ่านคำแนะนำคนอื่นอยู่เล้ยยยย!!! 55555 ก็ถ้ามันไม่รู้จริง ไม่มีประสบการณ์จริง จะมาทำเก่ง แนะนำคนอื่น เราก็อายเค้านะ
สิ่งที่ทำได้คือ ค่อยๆ เก็บสะสมข้อมูล ลองผิดลองถูก จนแน่ใจว่าประสบการณ์กับความรู้สัมพันธ์กันพอดี วันนี้เลยถือโอกาสมาแนะนำ “3 + 4 เทคนิค บริหารเงินเพื่อการท่องเที่ยว (สำหรับคนทำงาน)” ให้คุณๆ ได้อ่านแล้วเอาไปปรับใช้กันดูนะครับ ทั้งหมดนี้เขียนขึ้นตามสไตล์ของ “หนีงานไปเที่ยว” ล้วนๆ ผิดถูกยังไง มาแนะนำกันได้น๊า
1. ตั้งสติ (อันนี้สำคัญสุด)
สำหรับคนทำงาน จงระลึกไว้เสมอว่า เราควรแบ่งเงินเดือนออกเป็นส่วนๆ ทั้งเพื่อใช้จ่ายในแต่ละเดือน, จ่ายค่าเช่าห้อง, ค่าเดินทาง, แบ่งเอาไว้เลี้ยงดูพ่อแม่ (ถ้าเงินพอ), แบ่งไว้ออมทรัพย์ แล้วค่อยแบ่งมาเป็น “กองทุนท่องเที่ยว” นะจ๊ะ มีน้อยใช้น้อย ออมน้อย มีมากออมมาก แต่ก็อย่าใช้มาก (เดี๋ยวจะยากจน)
ช่วงแรกๆ เราแนะนำสูตร 8-1-1 สำหรับคนที่จะเก็บเงินเที่ยว สมมุติคุณมีเงินเดือน 15,000 บาท เราแนะนำให้คุณแบ่งเงินเป็น
- 80% (12,000 บาท) สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
- 10% (1,500 บาท) สำหรับออมทรัพย์
- 10% (1,500 บาท) สำหรับกองทุนท่องเที่ยว
จากสูตรข้างบน คุณเก็บเงินแค่ 3-5 เดือน คุณก็มีงบเที่ยวในประเทศสบายๆ จะเที่ยวเหนือ, กลาง, อีสาน, ใต้, ตะวันออก ปีนึงเที่ยวได้ตั้ง 3-4 ครั้ง หรือถ้าอยากไปไกลกว่าในประเทศ คุณเก็บเงินสักปีนึง คุณจะมีงบพอเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ปีนัง, มาเลเซีย, เวียดนาม, ฮ่องกง, มาเก๊า, บาหลี ได้อีกด้วยนะ
และเมื่อไหร่ที่ระบบการใช้จ่ายมั่นคงแล้ว ฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้นมากแล้ว เราแนะนำให้เปลี่ยนจากสูตร 8-1-1 ไปเป็นสูตร 7-2-1 สมมุติเงินเดือนคุณเพิ่มเป็น 30,000 บาท คุณสามารถจัดสรรเงินได้แบบนี้
- 70% (21,000 บาท) สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
- 20% (6,000 บาท) สำหรับออมทรัพย์
- 10% (3,000 บาท) สำหรับกองทุนท่องเที่ยว
ด้วยสูตรนี้ คุณเก็บเงินแค่ 3-5 เดือน คุณก็ไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม, สิงคโปร์, ฮ่องกง, บาหลี, อินโดนีเซีย ได้ หรือถ้าอดใจเก็บต่อเนื่องสัก 1 ปี คุณจะมีเงินเที่ยวประเทศชิคๆ อย่าง ไต้หวัน, จีน, เกาหลี ได้เลยนะ
หลังจากวางแผนเรื่องแบ่งสัดส่วนเงินแล้ว สิ่งที่คุณต้องมี คือ “สติ” ไหนๆ ก็ตั้งมั่นจะเก็บเงินเที่ยวแล้ว ก็มุ่งมั่นให้ถึงที่สุด แรกๆ ยังไม่ต้องวางแผนทริปหรูหรา 5-6 หมื่น เอาเป้าหมายสั้นๆ อย่าง ไปเที่ยวภูเก็ต, เชียงใหม่ หรือหลวงพระบางก่อนก็ได้ พอบรรลุเป้าหมายแรกแล้ว ครั้งต่อไปก็ไม่ยาก เราจะไต่ระดับไปสู่เป้าหมายถัดไปก็ง่ายขึ้น
หมายเหตุ : แนะนำให้แวะกลับมาอ่านข้อนี้บ่อยๆ นะ 55555
เล่มเดียวที่ให้ชีวิตคุณก้าวหน้าได้ทุกวัน
จะออมเงินทั้งที ถ้ามีวิธีทำให้เงินงอกเงย (แบบไม่เสี่ยง) เราก็ไปถึงจุดหมายได้เร็วขึ้นอีกนะ แนะนำให้ลองเลือกออมเงินแบบที่ “คิดดอกเบี้ยทุกวันและจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน” การออมทรัพย์แบบนี้สะดวก ถอนได้เดือนละ 2 ครั้ง ไม่ต้องรอคิดดอกเบี้ยปลายปี เหมาะกับกองทุนท่องเที่ยวของเราที่ซู๊ดดดด…ดด 5555
ลองเปิดบัญชีออมทรัพย์ Ultra Savings ของ “ธนาคารธนชาต” ดูก็ดีนะ เงื่อนไขไม่ซับซ้อน คิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน และจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน สูงสุด 1.6% ต่อปี ฝากได้ตั้งแต่ 2 หมื่น แต่ไม่ถึง 50 ล้านบาทนะจ๊ะ เปิดบัญชีได้ตั้งแต่ 3 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไปครับผม!!
ข้อมูลเพิ่มเติม http://bit.ly/2kwQOaM
2. เลือกที่เที่ยว ตามวัยและฐานะทางการเงิน
ขึ้นชื่อว่าเที่ยว จะที่ไหนๆ มันก็น่าไปทั้งนั้นแหล่ะ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฝรั่งเศส อิตาลี อเมริกา อังกฤษ โอ๊ว!! น่าไปกันทั้งนั้น แต่เดี๋ยวก่อน!! คุณคือคนทำงานที่มีฐานเงินเดือนจำกัด ดังนั้นไม่ต้องรีบ ประเทศเหล่านี้อยู่มาแล้วเป็นร้อยปี เค้ายังอยู่ ยังไม่หนีไปไหน
มีแรงต้องรีบเที่ยว เดี๋ยวเหี่ยวแล้วเที่ยวไม่ไหว!!!
ช่วงเริ่มต้นทำงาน คือช่วงที่คุณงบคุณยังน้อย แต่แรงเที่ยวยังมีเหลือเฟือ พอทำงานนานไปเรื่อยๆ ฐานเงินเดือนคุณจะเพิ่มขึ้น แหล่งรายได้คุณก็อาจจะเพิ่มขึ้น แต่แรงเที่ยวก็ค่อยๆ ลดลงไปตามวัย ความลุย ความอึด ก็พลอยจะน้อยลงไปซะงั้น 5555 ถึงตอนนั้นเราก็มีเงินเที่ยวไกลขึ้น แพงขึ้นและสบายขึ้นแล้วครับ การเลือกที่เที่ยว “ตามวัยและฐานะการเงิน” จึงเป็นหลักการที่เหมาะสำหรับคนทำงานที่สุด เรามีคำแนะนำดังนี้
- ทำงาน 0-4 ปี (งบเที่ยว 5,000 – 10,000 บาท/ทริป) : เที่ยวเน้นลุย ผจญภัย หาประสบการณ์ชีวิต เช่น ภูกระดึง, ภูเก็ต, ดอยเชียงดาว, ทีลอซู, ภูชี้ฟ้า, ป่าฮาลาบาลา, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, เกาะพะงัน, เกาะเต่า, เกาะกูด ฯลฯ จัดไป!!
- ทำงาน 5-10 ปี (งบเที่ยว 15,000 – 30,000 บาท/ทริป) : ถ้าเที่ยวในประเทศ ก็ลองอัพเกรดทริปให้กินดีอยู่สบายดูบ้าง หาประสบการณ์ในรีสอร์ทหรือโรงแรมเก๋ๆ ชิคๆ หรือจะขยับขยายไปดูโลกกว้างที่ต่างแดนก็ยิ่งดี แต่อย่าเพิ่งไปไกล เราแนะนำ มาเลเซีย, ปีนัง, ฮ่องกง, มาเก๊า, บาหลี, หลวงพระบาง, มัณฑะเลย์, พุกาม (อันนี้ควรรีบไปก่อนเจดีย์จะพัง) หรือจะเป็นสิงคโปร์ก็ยังได้ แต่อาจจะแพงไปนิดนึง
- ทำงาน 11-20 ปี (งบเที่ยว 40,000 – 60,000 บาท/ทริป) : เมื่อฐานเงินเดือนดีขึ้นแล้ว ช่วงนี้จะตั้งเป้าเที่ยวประเทศในฝันก็ไม่สะเทือนกระเป๋าเท่าไหร่แล้ว จะเป็น ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน, ออสเตรเลีย, อินเดีย, เลห์, จีน, มอสโก, ตะวันออกกลาง ประเทศเหล่านี้ไม่ไกลเกินเอื้อมครับผม
- ทำงาน 21-30 ปี (งบเที่ยว 70,000 – 150,000 บาท/ทริป) : มาถึงตอนนี้ ฐานเงินเดือนดี ฐานะมั่นคง ถ้าคุณยังไม่แต่งงาน ไม่มีภาระเรื่องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เราเชียร์ให้คุณเที่ยวให้เต็มที่ครับ จะเป็น โรม, เวนิส, เวียนนา, เยอรมัน, สวิสเซอร์แลนด์, ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์, อเมริกา, ฮาวาย เน้นเที่ยวชิลล์ๆ สบายๆ ชมสถาปัตยกรรม ดื่มด่ำความโรแมนติก หรือจะไปดูแสงเหนือ ไปผจญภัยหน่อยๆ (แต่ไม่ลำบากมาก) คุณก็ยังพอไปไหว
- ทำงาน 31 ปีขึ้นไป (งบเที่ยว 150,000 บาท/ทริป ขึ้นไป) : เมื่อเข้าสู่วัยใกล้ 60 อย่าหักโหมเที่ยวจนเกินกำลัง อาจจะเที่ยวไม่ต้องไกลมาก อย่าง ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน, จีน, ฮังการี, มอสโก เน้นใช้เงินเพื่อซื้อประสบการณ์พิเศษในการเดินทาง เช่น นั่ง Business Class บ้าง นอนโรงแรม 5 ดาวบ้าง ทำงานมาเยอะแล้ว เราใช้จ่ายเพื่อให้คนมาบริการเราบ้างก็ดีครับ 555555
3. วางแผนและกำหนดงบประมาณ
สิ่งใดๆ ที่ผ่านการวางแผนย่อมดีกว่าเสมอ โดยเฉพาะการวางแผนเที่ยว!!! เมื่อผ่านข้อ 1 และ 2 มาแล้ว คุณจะรู้ว่าปีนี้คุณจะไปเที่ยวไหน มีงบประมาณกลมๆ เท่าไหร่ ในข้อที่ 3 นี้ เราจะมาแนะแนวทางในการบริหารงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดกันครับ โดยเริ่มจาก…
3.1 จัดสรรงบประมาณให้เหมาะกับสไตล์การเที่ยว
คุณชอบเที่ยวแบบไหน? “บินดี กินดี อยู่สบาย ชอปปิงแบรนด์เนม”, “บินประหยัด กินดี อยู่ง่าย ชอปปิงของเซลล์” หรือ “บินประหยัด กินประหยัด อยู่ง่าย ไม่ชอปปิง แต่เน้นสำรวจเมือง”? ทุกครั้งที่ตั้งใจจะไปเที่ยว เราย่อมรู้ตัวเองดี ว่าสไตล์การเที่ยวของเราเป็นแบบไหน และสไตล์ที่ว่านี่แหล่ะจะเป็นตัวกำหนด ว่าคุณควรกระจายงบประมาณของคุณให้กับเรื่องไหนมากที่สุด
3.2 ตรวจสอบราคาและกำหนดงบประมาณ
เมื่อสำรวจความต้องการตัวเองจนรู้แล้ว ว่าเราจะจัดสรรงบประมาณของเราให้กับเรื่องไหนมากที่สุด ขั้นตอนต่อไป คือการสำรวจต้นทุนและกำหนดงบประมาณตั้งต้นให้กับค่าใช้จ่ายต่างๆ ของทริป ไม่ว่าจะเป็น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร-เครื่องดื่ม ค่าบัตรผ่านประตู หรือแม้กระทั่งงบประมาณสำหรับการชอปปิ้ง
เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้คุณเข้าถึงราคาของรายการข้างต้น ก็คือ Google นี่ละครับ แค่พิมพ์คีย์เวิร์ดที่ต้องการทราบ เราก็พอจะรู้ราคาต่างๆ ได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์อย่าง www.skyscanner.co.th เอาไว้เช็คราคาตั๋วเครื่องบิน หรือพวกเว็บจองโรงแรมอย่าง traveloka, agoda, airbnb ที่ช่วยให้เราเช็คราคาที่พักในต่างประเทศได้
3.3 มี Internet ในมือ ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์
ต่อเนื่องจากข้อ 2 นอกจากจะใช้ประโยชน์จาก Google และ Website ต่างๆ เพื่ออ้างอิงราคาค่าตั๋วเครื่องบิน, ค่าที่พัก, ค่าอาหารแล้ว ยังมี Website, Mobile Application และ Facebook Community อีกหลายตัว ที่จะเป็นช่องทางให้เราได้ตั๋วเครื่องบิน, ที่พัก, รถเช่า, บัตรผ่านประตู หรือ Pass ต่างๆ ในราคาสบายกระเป๋าได้อีกด้วย อาทิเช่น
- Facebook Page : Secret Flying
- Facebook Page : เพื่อนบอกโปร
- Facebook Page : ChangTrixGet
- Facebook Group : ChangTrixGet
- Facebook Page : อาแป่ะดอทคอม
สำหรับขา Social Media เราแนะนำให้คุณลองไปจอยกับ Facebook Group ที่เกี่ยวกับประเทศที่คุณอยากไป เช่น กลุ่มเที่ยวญี่ปุ่น, เที่ยวไต้หวัน, เที่ยวเกาหลี, กลุ่มดูแสงเหนือ ฯลฯ ในกลุ่มพวกนี้มักจะมีข่าวสาร หรือมีตั๋วโปรฯ ราคาดีๆ หลุดมาขายอยู่เป็นประจำครับผม
3.4 ศึกษาข้อมูลการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศก่อนเดินทาง
“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครา” จะเที่ยวประเทศไหน ก็ยิ่งต้องศึกษาข้อมูลประเทศนั้น โดยเฉพาะประเทศที่มีการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ประเทศเหล่านี้มักจะทำมีโปรโมชั่นพิเศษเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างแดนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นคูปองส่วนลดพิเศษ, บัตรผ่านประตูเข้าพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ หรือสวนสนุกในราคาเหมา หรือแม้กระทั่งตั๋วเหมาะสำหรับเดินทางในประเทศ
ตัวอย่างประเทศที่เห็นชัดๆ ด้านนี้ก็ได้แก่ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ไต้หวัน และฮ่องกง แต่ละประเทศจะมีเทคนิคการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของตัวเองมากมาย ซึ่งถ้าเราหาข้อมูลดีๆ จะพบว่าเราสามารถซื้อ Pass, ซื้อคูปอง หรือบัตรผ่านประตูต่างๆ ในราคาพิเศษ ผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวได้เลยทีเดียว!!!
- ประเทศญี่ปุ่น : https://www.jnto.or.th/
- ประเทศเกาหลีใต้ : https://www.kto.or.th/
- ประเทศสิงคโปร์ : https://www.visitsingapore.com/th_th/
- ประเทศไต้หวัน : https://www.taiwan.net.my/th
- ประเทศฮ่องกง : http://www.discoverhongkong.com/th/index.jsp
คนไทยเที่ยวเก่ง หลายๆ ประเทศ ก็ทำหน้า Website เวอร์ชั่นภาษาไทย ไว้อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวชาวไทยเอาไว้แล้ว หรือถ้าคิดอะไรไม่ออก แวะมาที่เว็บ www.ibreak2travel.com ก็ได้นะ มีข้อมูลท่องเที่ยวเยอะแยะไปหมด มีประโยชน์ทั้งน้าน!!!
เป็นยังไงบ้างครับกับ “3 + 4 เทคนิคบริหารเงินเพื่อการท่องเที่ยว (สำหรับคนทำงาน)” ที่เรานำมาฝากกัน หวังว่าเทคนิคที่เราเก็บเล็กผสมน้อยมาตลอด 4 ปี จะเป็นประโยชน์ให้กับมิตรรักคนทำงาน ที่ชอบการท่องเที่ยว เหมือนเราทั้งคู่นะครับ
สุดท้ายนี้ ใครมีเทคนิคเก็บเงินเที่ยววิธีไหนที่ได้ผลดีๆ มาแชร์ ให้พวกเราฟังกันบ้างน๊า!!