จุดหมายปลายทางของเราสองคนในทริปนี้ คือ ไปล่าแสงเหนือที่ไอซ์แลนด์ แต่ไม่มีสายการบินตรงไปลงที่ไอซ์แลนด์เลย เราจึงเลือกแวะเที่ยวเมืองเสน่ห์น่ารักๆ อย่าง “Copenhagen (โคเปนเฮเกน) ประเทศเดนมาร์ก” รวม 3 วัน 2 คืน ก่อนบินไปประเทศไอซ์แลนด์ เมืองนี้ใครๆ ก็สมญานามว่าเป็น “เมืองที่มีความสุขที่สุดในโลก” และ “เมืองแห่งรถจักรยานอยู่ในทุกที่” ตามเราไปเดินเล่นใน “โคเปนเฮเกน” เมืองแห่งความสุขว่าจะจริงแบบที่เค้าพูดๆ กันไหมคะ
รีวิวที่เกี่ยวข้อง
- 11 พิกัดเที่ยวสนุกในเมืองแห่งความสุขโคเปนเฮเกน
- 10 ข้อควรรู้ก่อนไปเที่ยวไอซ์แลนด์
- การขอวีซ่าท่องเที่ยวไอซ์แลนด์ (อัพเดท มี.ค.2562)
งั้นเรามาเตรียมตัวก่อนไปเที่ยวโคเปนเฮเกน… เมืองนี่แหละที่ทำให้เรา 2 คนตกหลุมรักเข้าอย่างจัง
1. เดินทางไปโคเปนเฮเกนยังไง ?
ทริปนี้เราจองตั๋วโปรฯ TG (Thai Airways) และ FI (Icelandair) บินสบาย ตรงเวลา นั่ง “การบินไทย” ไปต่อ “IcelandAir” นั่งสบายๆ กับประสบการณ์ที่ Smooth as Silk ดีจริงๆ เราใช้บริการจองตั๋วเครื่องบินทั้ง 2 สายการบินจาก BuyNow ไม่ผิดหวัง!! คุ้มและดีค่ะ!! คิดถึง Iceland, ยุโรป, เกาหลีใต้ ✈️ จะนั่งเครื่องบิน ต่อรถไฟ ล่องเรือสำราญ
ตารางเที่ยวขาไป :
• 00:50 Bangkok (BKK) – 06:35 Copenhagen (CPH) โดย (TG950)
– บินตรงใช้เวลา 11.20 ชม. เสิร์ฟอาหาร 2 มื้อ
– เวลาสวย ออกกลางคืนถึงโคเปนเฮเกนเช้าตรู่ ลงเครื่องแล้วเที่ยวได้เลย
– แวะเที่ยว Copenhagen 3 วัน 2 คืน ก่อนบินไปไอซ์แลนด์
• 12:55 Copenhagen (CPH) – 15:13 Reykjavik (KEF) โดย (FI205)
– บินตรงใช้เวลา 3.15 ชม.
ตารางเที่ยวขากลับ :
• 16:11 Reykjavik (KEF) – 21:12 Copenhagen (CPH) โดย FI216)
– บินตรงใช้เวลา 3.10 ชม.
• 14:14 Copenhagen (CPH) – 07:03 (+1) Bangkok (BKK) โดย (TG951)
– บินตรงใช้เวลา 10.35 ชม ถึงเช้าไปทำงานต่อได้เลย
- สายการบิน TG ได้น้ำหนักกระเป๋า 20 กก. (ซื้อน้ำหนักกระเป๋าล่วงหน้าราคาจะถูกกว่า), Carry On ขึ้นเครื่องได้ 7 กก. และสามารถ Check through กระเป๋าถึงไอซ์แลนด์เลย
- ห้องโดยสารมีสีสันสดใส ที่นั่งเบาะกำมะหยี่ขนาดใหญ่ ที่วางขาที่กว้าง เราบินด้วยเครื่อง Boeing 777-300ER ที่นั่งเป็นแบบ 3-3-3 ห้องโดยสารกว้าง
- เสิร์ฟอาหารรวม 2 มื้อ มื้อแรกหลังจากเครื่องขึ้นจะเสิร์ฟอาหารไทยพร้อมเครื่องดื่มและแอลกอฮอล์ รสชาติอาหารอร่อย ส่วนมื้อที่ 2 เสิร์ฟไข่ม้วน ไส้กรอก ครัวซองค์ ชา-กาแฟร้อน ระหว่างมื้ออาหารมีพนักงานมาเสิร์ฟน้ำส้ม และน้ำดื่มเรื่อยๆ
- หลังจากเที่ยวโคเปนเฮเกนแล้ว ก็ถึงเวลาบินต่อไปไอซ์แลนด์ด้วยสายการบิน Icelandair โดยเที่ยวบิน FI205 สู่สนามบิน Keflavik Airport ใช้เวลาบินประมาณ 3.10 ชั่วโมง
- สายการบิน Icelandair จะได้น้ำหนักกระเป๋า 23 กก. พร้อมถือขึ้นได้อีก 10 กก. เพื่อความปลอดภัยทางสายการบินค่อนข้างเข้มงวดเรื่องกระเป๋า Carry on ขึ้นเครื่องบิน ดังนั้นให้มีได้แค่ 2 ใบเป๊ะ!! นะคะ
2. เที่ยวเดนมาร์ก… ต้องขอวีซ่าก่อนนะ
- ท่องไว้!! ถ้าจะไปเที่ยวเดนมาร์ก หรือจะไปล่าแสงเหนือที่ไอซ์แลนด์ ให้ไปขอวีซ่าเชงเก้นที่เดียวกันค่ะ
- เราขอ “วีซ่าเชงเก้นประเภทท่องเที่ยว” ( คือ ไม่มีญาติ หรือเพื่อนในประเทศเดนมาร์ก และไอซ์แลนด์) โดยวีซ่าประเภทนี้มีจะมีระยะเวลาเดินทางไม่เกิน 90 วัน ทำเรื่องขอได้ที่ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าดำเนินการโดย VFS (ประเทศไทย)
- ต้องทำนัดหมายวันที่ล่วงหน้าทางออนไลน์เพื่อไปยื่นเอกสาร และการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ (ไบโอเมตทริกส์) ด้วยตัวเอง
- ตอบทุกข้อสงสัยการขอวีซ่าเดนมาร์กได้ที่ 10 ข้อควรรู้ก่อนไปเที่ยวไอซ์แลนด์
3. ใช้เงินสกุลอะไรดี ?
- “เดนมาร์ก” เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป แต่ไม่ได้เข้าร่วมใช้สกุลเงินยูโร จึงใช้เงินสกุลของตัวเอง “โครนเดนมาร์ก” (Danish Kroner) ตัวย่อว่า DKK หรือสัญลักษณ์ kr. (สรุปง่ายๆ คือ ที่เดนมาร์กไม่ใช้เงินสกุล Euro นะคะ)
- อัตราแลกเปลี่ยน 1 DKK. (โครนเดนมาร์ก) = 4.82 บาท (ณ.วันที่ 3 มีนาคม 2562) วิธีคิดคร่าวๆ คือ เอาค่าเงิน DKK แล้ว ×5 จะเท่ากับเงินบาท
- หมวยแนะนำให้แลกเงินจากไทยไปจะสะดวกที่สุดค่ะ แต่ถ้าลืมแลกเงินก็มีบู๊ธรับแลกเงินบริเวณ Belt รับกระเป๋าในสนามบิน Københavns Lufthavn, Kastrup ค่ะ
4. เวลาแตกต่างกันเยอะไหม ?
- เขตเวลามาตรฐานของเดนมาร์กใช้เวลามาตรฐานแบบ UTC/GMT +1 ชั่วโมง ซึ่งเวลาของเดนมาร์กจะช้ากว่าของประเทศไทยประมาณ 5-6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับฤดูกาล
- ฤดูร้อน : เริ่มอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคม เวลาเดนมาร์กช้ากว่าเมืองไทย 5 ชั่วโมง
- ฤดูหนาว : เริ่มอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม เวลาเดนมาร์กช้ากว่าเมืองไทย 6 ชั่วโมง
5. ไฟฟ้า
เดนมาร์กใช้ไฟฟ้า 220 โวลต์เช่นเดียวกับไทย และใช้ปลั๊กไฟฟ้าแบบสองขา หรือสามขากลม ดังนั้นหมวยแนะนำให้พกปลั๊ก universal plug พกอันเดียวเที่ยวได้ทั่วโลกจะสะดวกกว่าค่ะ
6. อากาศเป็นยังไง?
- เนื่องจากเดนมาร์กเป็นเกาะจึงทำให้อากาศมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย อากาศหนาวเย็น ฟ้าค่อนข้างจะดูมืดครื้ม ค่าเฉลี่ยสภาพอากาศประจำปีในเดือน “กรกฎาคม” จะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนแรงที่สุดในโคเปนเฮเกนมีอุณหภูมิเฉลี่ย 17 °C และเดือนที่หนาวที่สุดคือ”เดือนมกราคม” อุณหภูมิอยู่ที่ 0 °C
- ฤดูร้อน : เดือน กค. – สค. อากาศเย็นสบาย อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20-25 °C ผู้คน Danish นิยมทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น คายัก, เดินป่า, ตั้งเต๊นท์, ตกปลา ในวันที่มีแสงแดดยาวนานอาจทำให้พระอาทิตย์ตกเวลาประมาณ 22.00 น.
- ฤดูหนาว : เดือน ธค. – กพ. กลางวันจะสั้น กลางคืนจะยาว และอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ -5 ถึง 5 °C
- ฤดูใบไม้ร่วง : ปลายเดือน กย. – พย. เป็นช่วงที่อากาศกำลังดี เย็นสบาย ซึ่งในช่วงเดือนนี้ถือว่าน่าไปที่สุด
7. เดินทางเข้าเมือง… เอาไงดี ?
โครงข่ายการคมนาคมในโคเปนเฮเกนมีหลากหลายให้เลือกทำให้การเดินทางไปไหนก็สะดวกมากๆ ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยาน รถแท็กซี่ รถไฟ รถเมล์ และรถไฟใต้ดิน
แท็กซี่
รถแท็กซี่จากสนามบินโคเปนเฮเกนไปยังใจกลางเมืองราคาประมาณ 200 DKK (กลางวัน) 250 DKK (กลางคืนและในวันหยุดสุดสัปดาห์) ราคานี้จะรวมภาษีและทิปแล้ว
รถไฟ
การเดินทางโดยรถไฟที่เชื่อมต่อภายในสนามบิน Terminal 3 เข้าสู่ใจกลางกรุงโคเปนเฮเกน (Copenhagen Central Station) แค่ 13 นาทีเท่านั้น ถือว่าสะดวกและรวดเร็วมากๆ โดยสถานีนี้ถือว่าเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้จัก, เป็นสถานีรถไฟหลักทั้งหมดของโคเปนเฮเกน และเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเดนมาร์ก ซึ่งใช้ในการเชื่อมต่อไปเมืองทั่ว Denmark, Sweden และประเทศยุโรป และยังเป็นจุดรวมของรถเมล์สายต่างๆ ด้วย
- ก่อนเข้าเมือง เราซื้อ “บัตร City pass” ได้ที่สนามบิน บัตรจะแบ่งเป็นโซนๆ ซึ่งต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขบัตรแต่ละแบบให้ดีๆ ก่อนซื้อนะคะ
- ถ้าเน้นเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ จะอยู่แค่ในตัวเมืองเท่านั้น หมวยแนะนำให้ซื้อตั๋ว “City pass Small” ใช้ได้ 4 zones ซื้อแล้วสามารถใช้ได้ทันที
- หมวยซื้อ City pass Small แบบ 48 ชั่วโมงหลังจากออกบัตร ราคา 150 DKK /ใบ (ประมาณ 723 บาท) ซึ่งตั๋วเดียวสามารถใช้ขึ้นรถได้ทุกชนิดทั้งรถบัส รถไฟ และรถไฟฟ้าใต้ดินแบบไม่จำกัดจำนวน (ตั๋วแบบนี้จะคุ้มกว่าตั๋วรายเที่ยวเยอะเลย เพราะ ค่าตั๋วรถไฟแบบ Single ticker เข้าเมืองก็ใบละ 36 DKK แล้ว)
- นอกจากนี้ยังมี “บัตร City pass แบบ 24, 48, 72 และ 120 ชม.” สามารถหาซื้อบัตรได้ที่ตู้ขายตั๋วอัตโนมัติก่อนออกจากสนามบิน ซึ่งจะมีพนักงานให้ขอ้มูลใส่เสื้อกั๊กสีแดงช่วยตอบคำถามค่ะ
- มาที่นี่ใช้ Google Map App ในการวางแพลนการเดินทางได้เลย แม่นยำสุดๆ ค่ะ
- ข้อมูลเพิ่มเติม : https://dinoffentligetransport.dk/citypass
City pass Coverage
แผนที่สถานีรถไฟ Copenhagen Central Station
8. ค่าครองชีพแพงไหม?
ตอบเลยว่า แพง แพงจริงๆ!!! ยกตัวอย่างราคาของที่ซื้อง่ายๆ นะคะ (คิดเรทอัตราแลกเปลี่ยน 1DKK = 4.82 บาท)
- น้ำเปล่าขวดละ 100 บาท นี่เลยเป็นสาเหตุให้เราดื่มน้ำประปาจากก๊อก 555
- กาแฟร้อน 7-11 ราคา 29 DKK (แก้วละ 140 บาท) ราคาพอๆกับ Starbucks บ้านเราเลยนะเนี่ย!!
- น้ำอัดลมแบบขวด 2 ขวด ราคา 36 DKK (ขวดละ 87 บาท)
- ถ้าทาน Beef Burger และ Hotdog ใน Central Station จะราคามื้อละ 168 DKK โอ๊ยตาย!!! ตก 2 คน มื้อละ 810 บาท
- The Twisted Churros ชูโรสร้อนๆ หอมๆ กรอบๆ ราดด้วยช็อกโกแลตเข้มข้น หวานน้อย และคลุกเคล้าด้วยถั่วอัลมอนต์หอมกรอบ ราคา 72 DKK (ประมาณ 350 บาท)
- มื้อเช้าที่ร้าน NOHO ร้านนีออนสุดฮิปแห่งโคเปนเฮเกน สวยตกแต่งดีๆ ก็ตกประมาณคนละ 1,xxx บาท/คน ราคาก็แพงตามความสวยของร้านเลยค่ะ
9. พักย่านที่ไหนดี ?
ถ้าต้องการมาเที่ยว Copenhagen แล้วบินต่อไป Iceland หรือจุดหมายปลายทางที่อื่นๆ
หมวยแนะนำให้พักโรงแรมแถวๆ København H หรือเรียกว่า Copenhagen Central Station (พูดง่ายๆ ก็เหมือนชุมทางรถไฟ)
ข้อดีของการพักใกล้ Central Station
– เดินทางสะดวกมาก นั่งรถไฟจากสนามบินไปลงยังสถานี København H ใช้เวลาประมาณ 13 นาที ออกปุ๊ปถึงโรงแรมเลย และสะดวกขากลับเวลาเดินทางไปสนามบิน
– หาของทานง่าย ภายในสถานีมี supermarket ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ 7-11 สถานีตำรวจ และร้านขายยา
– ด้านหลังสถานีก็ติดกับสวนสนุก Tivoli มีเป็นจุดขึ้นลงรถบัสหลายสาย ซึ่งไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น
10. Tax Refund ขอคืนที่ไหน?
Copenhagen Airport Kastrup (CPH) เป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในสแกนดิเนเวีย และเป็นหนึ่งในสนามบินที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป ตั้งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองโคเปนเฮเกน ในปี 2013 สนามบินแห่งนี้ได้รับรางวัล World’s Best Airport Security Award by Skytrax
ระหว่าง Terminal 2 และ 3 เดินเชื่อมถึงกันใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที จะมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ บาร์ดื่ม ร้านค้าแบรนด์เยอะมาก เช่น Hermes, Mulberry, Gucci, Max Mara, Saint Laurent, Burberry, Paul Smith, Massimo Dutti, Pandora, H&M, Marimekko และแบรนด์ท้องถิ่นด้วย มีบริการ Self Service Check-in Kiosks ตู้เช็คอินด้วยตนเองกระจายอยู่ทั่วสนามบิน ซึ่งแนะนำให้ทำ Web Check-in แล้วรับ Boarding Pass ทางอีเมลล์จะสะดวกกว่า
พอหมวยมา Copenhagen ก็มีเพื่อนๆ หลายคนเชียร์ให้ชอปปิง เพราะได้ Tax Refund ค่อนข้างสูง แล้วหมวยก็เป็นคนเชื่อคนง่ายซะด้วย… เลยจัดซะหน่อยค่ะ
– กระเป๋า Rimowa รุ่น E-tag ขนาด 30″ ในราคา 4,395 DKK
– ผ้าคลุมกระเป๋า TUMI ในราคา 500 DKK
– ยอดรวม 4,895 DKK ได้ Tax Refund มา 636.35 DKK ถือว่าคุ้มมากกกกค่ะ!!
ก่อนบินไปไอซ์แลนด์พร้อมกระเป๋าใบใหม่เลยต้องมาทำ Tax Refund ที่สนามบิน CPH
Terminal 2 :
– การทำ Tax Refund จำเป็นต้องมียอดใบเสร็จขั้นต่ำ 300 DKK ที่ซื้อของภายใน 1 วันและร้านเดียวกัน
– กรอกฟอร์มให้เรียบร้อย จะมีอยู่ 2 เคาน์เตอร์ คือ Planet Tax Free และ Global Blue ซึ่งการได้ Tax Refund จะเป็นไปตามขั้นบันไดตามราคาของสินค้าที่ซื้อ
– 300 – 1,000 DKK ได้ Vat Refund 12%
– 1,001 – 5,000 DKK ได้ Vat Refund 13%
– 5,001 – 10,000 DKK ได้ Vat Refund 14%
– 10,001 – 25,000 DKK ได้ Vat Refund 15%
– 25,001 – 50,000 DKK ได้ vat refund 17%
– 50,001 ได้ vat refund 18%
Terminal 3 :
เราก็มาแวะรอต่อเครื่องบินก่อนกลับไทย ในสนามบินมี Airport Lounges หลายแห่งให้บริการ ซึ่งเรา 2 คนเลือก “SAS Lounge” จะมีบริการอาหาร, เครื่องดื่ม, กาแฟ, Wi-Fi, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, คอมพิวเตอร์, ปริ้นส์เตอร์, พื้นที่โซฟา, ห้องประชุม และห้องอาบน้ำพร้อมผ้าขนหนู
– ราคาค่าเข้า : 219 DKK.
– เปิดเวลา : ทุกวัน วันจันทร์-ศุกร์เปิด 05:00-23:00 น. วันเสาร์-อาทิตย์เปิด 06:00-21:00 น.